ภาษี (Tax) เป็นรายได้หนึ่งที่สำคัญของรัฐ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุไว้ในหมวดที่ 4 มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ นั่นแสดงว่า บุคคลที่มีเงินได้ (รายได้) จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งภาษีมีหลายรูปแบบเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรัฐมีหน้าที่นำภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีรูปแบบหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่มีเงินได้ตามที่กำหนดหมายกำหนด โดยจะเรียกเก็บเป็นรายปี ซึ่งการคำนวณภาษีนั้นจะคำนวณจากเงินได้ตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม และบุคคลที่มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รอบปีภาษี 2564 จะถูกคำนวณตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงธันวาคม 2564 และผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีปี 2564 ในช่วงเดือนมกราคม 2565 – มีนาคม 2565 ซึ่งหลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีดังนี้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน (รายได้ เช่น เงินเดือน) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564
เงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี | ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้น | ภาษีสะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
1 – 150,000 | ได้รับยกเว้น | – | – |
150,001 – 300,000 | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | – | – |
ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนจะได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/